อันดับแรก อยากให้ทำความเข้าใจความหมายระหว่างคำว่า ยื่นภาษี และ เสียภาษี กันก่อน ว่าทั้งสองคำนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ?
หลาย ๆ คน อาจจะเคยเจอว่าภาษีบางประเภทต้องยื่นแม้ว่าจะไม่ต้องเสียภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีประเภทอาจจะไม่ต้องยื่นแบบแต่ต้องชำระเมื่อได้รับการประเมินจากเจ้าหน้าที่ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งนี่แหละคือความแตกต่างระหว่างการยื่นภาษี
แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่กังวลในหัวข้อนี้ มักจะเป็นเรื่องของการถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังจากทางกรมสรรพากรมากกว่า
เรื่องของการตรวจสอบย้อนหลังนั้น มันเป็นไปตาม อำนาจการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา บางคนโชคดีอาจจะไม่โดน บางคนโชคร้ายอาจจะโดนก็ได้ เพราะอำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่นั้น มันไม่ได้เกี่ยวกับการยื่นภาษีโดยตรง ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจอำนาจการตรวจสอบของกรมสรรพากรกันก่อนค่ะ
ถ้าลองทำความเข้าใจกฎหมายภาษีอย่างประมวลรัษฏากร เราจะพบข้อเท็จจริงว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีในส่วนนั้น ๆ ในขณะที่ สรรพากรมีอำนาจการประเมินภาษี หากพบว่าผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายนั้นยื่นภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจทางเจ้าหน้าที่ไว้ตามนี้
มาตรา 19 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าว จะต้องกระทำภายในเวลาสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร
มาตรา 23 ผู้ใดไม่ยื่นรายการ ให้อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินแล้วแต่กรณี มีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้นั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ ผู้ที่ไม่ยื่นรายการ หรือพยานนั้นนำบัญชี หรือพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย
โดยมาตรา 23 จะอ้างอิง มาตรา 193/30 จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องอายุความว่า "อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือ กฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี"
จากข้อกฎหมายข้างต้น สรุปประเด็นสั้น ๆ ได้ว่า อำนาจการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ในกรณีที่เราไม่ยื่นภาษี คือ 10 ปี แต่ถ้าหากเรายื่นภาษี อำนาจตรวจสอบย้อนหลังจะเหลือเพียง 2 ปี และสามารถขยายสูงสุดได้ไม่เกิน 5 ปี หากกรณีความผิดที่เกิดขึ้นจากการหลีกเลี่ยงภาษีอากร
นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องเรื่องของโทษต่าง ๆ ที่ต้องรู้เพิ่มเติมไว้ในกรณีที่ไม่ได้ยื่นภาษี ดังนี้
หากใครคิดที่จะไม่ยื่นภาษีก็อย่าลืมมองต้นทุนที่เกิดขึ้นตรงนี้ที่นอกเหนือจากอำนาจการตรวจสอบของกรมสรรพากรไว้ด้วย
จากตัวอย่างข้างบนจะเห็นว่า ในกรณีที่ยื่นภาษี (ปีที่ 10) อำนาจการตรวจสอบย้อนหลังของปีที่ 10 จะเหลือสูงสุดเพียง 5 ปี ในขณะที่ปีที่ 1-9 ที่ไม่ได้ยื่นภาษี อำนาจการตรวจสอบย้อนหลังจะมีทั้งหมด 10 ปี ตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ว่าไว้
ดังนั้น ถ้าหากเราพิจารณาจากข้อกฎหมายแล้ว อำนาจการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่มันขึ้นอยู่กับการยื่นภาษี แต่ไม่ได้อยู่ที่ว่ายื่นแล้วจะโดนตรวจสอบหรือไม่ เพราะถ้าหากพบเจอขึ้นมาจริง ๆ ว่าปีที่ไม่เคยยื่นก่อนหน้านี้มันผิด ก็ยังมีสิทธิ์ตรวจสอบตามกฎหมายได้นั่นเอง
แต่พูดแบบนี้แล้วหลายคนอาจจะรู้สึกเริ่มกลัวใช่ไหม เอาเป็นว่าเรามาดูแนวปฎิบัติที่เกิดขึ้นจริงของสรรพากรกัน
สำหรับคนที่กลัวว่ายื่นภาษีแล้ว จะถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังหรือเปล่า ต้องบอกว่าปัจจุบันทางกรมสรรพากรเองมีแนวทางที่สนับสนุนให้ผู้เสียภาษีเข้าระบบให้ถูกต้องมากกว่าการตรวจสอบย้อนหลัง
อยากให้ลองคิดในมุมของสรรพากรว่า ถ้าหากเราเจอผู้เสียภาษีสองคนที่ทำผิด ระหว่างคนที่ไม่เคยยื่นภาษีมาก่อนและจงใจหลีกเลี่ยงภาษี กับ คนที่มีการปรับปรุงแก้ไขโดยเริ่มต้นยื่นภาษีไว้อย่างถูกต้อง คนไหนน่าจะถูกตรวจสอบมากกว่าในทางปฎิบัติ แบบนี้ก็พอจะเห็นภาพใช่ไหม หรือถ้าหากพูดกันตรง ๆ เราต่างก็รู้ดีว่าคนไหนน่าจะได้รับความเห็นใจมากกว่า จริงไหม ?
ดังนั้นในทางปฎิบัติ การยื่นภาษีถูกต้องตั้งแต่ตอนนี้น่าจะมีประโยชน์กว่าการปล่อยทิ้งไว้ แล้วดันไปถูกตรวจสอบในภายหลัง ประกอบกับแนวทางการตรวจสอบของระบบและเทคโนโลยีที่เข้มข้นขึ้น จะทำให้ผู้เสียภาษีที่ยื่นภาษีไว้ไม่ถูกต้อง มีโอกาสถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
สุดท้ายสำหรับใครที่คิดจะยื่นภาษีให้ถูกต้อง มีคำแนะนำ 3 ข้อสั้น ๆ ตามนี้
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ เป็นเพียงข้อแนะนำบ สำหรับคนที่เชื่อแตกต่างไป หรือยังมองการการไม่เคยยื่นภาษีนั้นเป็นประโยชน์มากกว่า ตรงนี้ก็เป็นแนวคิดของแต่ละคนที่สามารถเลือกพิจารณาแตกต่างกันไป
cr: https://www.taxbugnoms.co