ความสำคัญของงบการเงิน สะท้อนความสามารถธุรกิจและการลงทุน

ความสำคัญของงบการเงิน สะท้อนความสามารถธุรกิจและการลงทุน

ความสำคัญของงบการเงิน สะท้อนความสามารถธุรกิจและการลงทุน



ความสำคัญของงบการเงิน

แม้ผู้ประกอบการหลายรายจะยังคงดำเนินธุรกิจได้โดยปกติ คือ ขายสินค้าได้ และมีกำไร แต่ผู้ประกอบการอาจจะยังไม่รู้ว่าสุขภาพของธุรกิจของท่านแท้ที่จริงแล้ว แม้มีกำไร แต่ก็มีรายจ่ายเกิดขึ้นอย่างมาก จนอาจจะมากกว่าที่กิจการประเภทเดียวกันเป็นอยู่ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แข็งแรงของธุรกิจแฝงอยู่โดยที่ท่านไม่รู้ตัว งบการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญประเภทหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นถึงความผิดปกติในธุรกิจของตนเองได้ และสามารถปรับปรุงจุดอ่อนเหล่านั้นได้ บทความนี้ จะกล่าวถึงประโยชน์ของการจัดทำงบการเงินที่และงบการเงินที่มีลักษณะที่ดี ที่ผู้ประกอบการพึงต้องคำนึงถึงเมื่อยังคงประกอบธุรกิจอยู่

โดยในบทความนี้แบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. วัตถุประสงค์ของงบการเงิน
2. ข้อสมมติในการจัดทำงบการเงิน
3. ลักษณะของงบการเงินที่ดี

งบการเงินถือว่ามีความสำคัญกับบริษัทมาก เนื่องจากเป็นบัญชีที่ทั้งบุคคลภายในกิจการเองและบุคคลภายนอกกิจการจะใช้เพื่อทำการวิเคราะห์ว่ากิจการมีฐานะการเงินเป็นเช่นไร ความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจดีหรือไม่ หนี้สินเยอะหรือน้อย ยอดขายเพิ่มขึ้นหรือลดลง การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทำได้ดีหรือไม่ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของงบการเงิน

งบการเงินจัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวไปตัดสินใจในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ใช้งบการเงินสามารถทราบข้อมูลทางการเงินของกิจการจากงบดุล ทราบผลการดำเนินงานของกิจการจากงบกำไร-ขาดทุน ส่วนงบกระแสเงินสดจะเป็นงบการเงินที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของฐานะการเงินในระหว่างงวดบัญชี

อย่างไรก็ตาม งบการเงินไม่ได้ให้ข้อมูลทุกประเภทที่ผู้ใช้งบการเงินต้องการ เนื่องจากงบการเงินไม่ได้ให้ข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลที่เป็นตัวเงิน เช่น ความสามารถของผู้บริหาร เป็นต้น ผู้ประกอบการพึงต้องเข้าใจวัตถุประสงค์งบการเงินรวมถึงข้อจำกัดบางอย่างของงบการเงินด้วย

ข้อสมมติในการจัดทำงบการเงิน

ข้อสมมติในการจัดทำงบการเงิน มี 2 ข้อ ได้แก่

1. เกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis)
ตามเกณฑ์นี้งบการเงินจะจัดทำขึ้นโดยใช้เกณฑ์คงค้าง กล่าวคือ รายการและเหตุการณ์ทางบัญชีจะรับรู้รายการเมื่อรายการนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ต้องคำนึงว่ารายการนั้นจะมีการรับเงินสดหรือจ่ายเงินสดหรือไม่ เช่น เมื่อมีการขายสินค้า กิจการจะรับรู้รายได้จากการขายเมื่อกิจการได้ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่า ในวันนั้นลูกค้าจะได้จ่ายชำระเงินให้กิจการหรือไม่

2. การดำเนินงานต่อเนื่อง (Going Concern)
งบการเงินที่จัดตั้งขึ้นโดยมีข้อสมมติว่า กิจการจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตโดยไม่มีมีเจตนาที่เลิกกิจการหรือลดขนาดของกิจการอย่างมีนัยสำคัญ หากกิจการมีความจำเป็นดังกล่าว งบการเงินจำเป็นต้องจัดทำขึ้นโดยใช้เกณฑ์อื่น

ดังนั้นผู้ประกอบการต้องทราบข้อสมมติดังกล่าวข้างต้นเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากงบได้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ความเป็นจริงมากที่สุด

ลักษณะของงบการเงินที่ดี

ลักษณะของงบการเงินที่ดีเป็นการมองในลักษณะเชิงคุณภาพ ซึ่งหมายถึง คุณสมบัติที่ทำให้ข้อมูลในงบการเงินมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

1. ความเข้าใจได้ (Understandability)
ข้อมูลที่แสดงให้งบการเงินต้องเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้งบการเงินสามารถอ่านและเข้าใจข้อมูลดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยจะต้องรวมข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจให้ครบ

2. ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ (Relevance)
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจต้องช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งช่วยยืนยันหรือชี้ข้อผิดพลาดของผลการประเมินที่ผ่านมาของงบการเงินได้

3. ความเชื่อถือได้ (Reliability)
ข้อมูลที่แสดงในงบการเงินต้องเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ คือ ต้องปราศจากข้อผิดพลาดและลำเอียง เช่น ต้องเป็นข้อมูลที่แสดงเหตุการณ์ทางบัญชีตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมีความเป็นกลาง มีความครบถ้วน เป็นต้น

4. การเปรียบเทียบกันได้ (Comparability)
ข้อมูลในงบการเงินกิจการเดียวกันต้องสามารถเปรียบเทียบกันได้ การเปรียบเทียบกันจะทำให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถคาดคะเนถึงแนวโน้มของฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการได้

สรุปภาพรวมความจำเป็นของการมีงบการเงิน

จากที่กล่าวมาข้างต้นวัตถุประสงค์หลักของการมีงบการเงินคือการจัดทำรายงานประเภทหนึ่งของกิจการเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ งบการเงินจะมีประโยชน์ต่อหลายฝ่าย ทั้งกลุ่มผู้ลงทุน เจ้าหนี้ สาธารณชนทั้งหลาย บุคคลในแต่ละกลุ่มที่เป็นผู้ใช้ต่างก็มีความต้องการทางการเงินที่แตกต่างกัน สำหรับตัวผู้ประกอบการเองสามารถใช้งบการเงินเพื่อการวิเคราะห์สุขภาพกิจการของตนว่ามีฐานะการเงินเป็นเช่นไร ความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจดีหรือไม่ หนี้สินเยอะหรือน้อย ยอดขายเพิ่มขึ้นหรือลดลง การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทำได้ดีหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก หากผู้ประกอบการมีการจัดทำงบการเงินขึ้นมา

Cr : https://wdev.smebank.co.th
 272
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์