ประเด็นความเสี่ยง จากข้อผิดพลาดในงบการเงินที่เจ้าของกิจการต้องรู้เพราะนำมาจากการเข้าตรวจสอบกิจการของกรมสรรพากร เพื่อแนะนำจัดทำงบการเงินที่ถูกต้อง ปรับปรุงค่าใช้จ่ายต้องห้าม ค่าใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องออกจากงบการเงิน เพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อย่างถูกต้อง
ข้อผิดพลาดในงบแสดงฐานะการเงิน ( Balance Sheet Errors )
หมายถึง ข้อผิดพลาดที่มีผลกระทบต่อบัญชีสินทรัพย์ หนี้สิน และทุน อันเกิดจากการจำแนกประเภทบัญชีผิด เช่น การจัดจำแนกลูกหนี้การค้าระยะสั้นเป็นเงินลงทุนระยะสั้น หรือการจัดตั๋วเงินจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายหรือการจัดสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนอื่น ข้อผิดพลาดดังกล่าวนี้ จะต้องรายการแก้ไขปรับปรุงบัญชีให้ถูกต้องทันทีเมื่อตรวจพบ
ข้อผิดพลาดในงบกำไรขาดทุน ( Income Statement Errors )
หมายถึง ข้อผิดพลาดที่มีผลกระทบต่อบัญชีรายได้หรือค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการจำแนกประเภทบัญชีผิด เช่น บันทึกค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าให้ลูกค้าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร หรือบันทึกรายได้จากดอกเบี้ยรับเป็นรายได้จากการขาย ข้อผิดพลาดในการจำแนกรายการในงบกำไรขาดทุนผิดจะไม่มีผลกระทบต่องบดุลและงบกำไรขาดทุน ดังนั้น ถ้าหากเป็นข้อผิดพลาดของปีก่อที่ได้ปิดบัญชีไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องลงรายการแก้ไขปรับปรุงเมื่อตรวจพบ แต่ถ้าหากเป็นข้อผิดพลาดของปีปัจจุบันระหว่างปี ก็จำเป็นต้องรายการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องทันทีเมื่อตรวจพบ
ข้อผิดพลาดที่กระทบทั้งงบดุลและงบกำไรขาดทุน ( Balance Sheet and Income Statement Effect )
หมายถึง ข้อผิดพลาดที่มีผลกระทบต่อบัญชีสินทรัพย์ หรือ หนี้สิน หรือ ทุน และกระทบต่อรายได้หรือค่าใช้จ่าย เช่น มิได้บันทึกรายได้หรือค่าใช้จ่าย เช่น มิได้บันทึกรายได้ค้างรับ ณ วันสิ้นงวดการบัญชี ผลของความผิดพลาดนี้จะทำให้รายได้ของงวดต่ำไป ซึ่งเป็นผลทำให้กำไรสุทธิของงวดต่ำไป และทำให้สินทรัพย์มีจำนวนต่ำไปด้วย
ประเด็นความเสี่ยง แยกตามกลุ่มบัญชีในงบการเงิน
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
-รายการเงินสดอยู่ในการครอบครองของกรรมการทั้งจำนวนหรือจำนวนมาก โดยไม่มีรายการเงินฝากสถาบันการเงิน อาจถือเป็นการให้กรรมการกู้ยืมเงิน โดยไม่คิดดอกเบี้ย
-กิจการไม่มีการกระทบยอดรายการเงินสด
-กิจการใช้เงินสดในการชำระรายการค้าทุกรายการ หรือบันทึกรายการด้วย บัญชีเงินสดทั้งหมด
-กิจการมีการตั้งวงเงินสดย่อยเพื่อใช้ในจำนวนที่สูงมาก และหลักฐานการเบิก ชดเชยเงินสดย่อยมีเพียงใบเสร็จรับเงินหรือบิลเงินสด หรือหลักฐานการเบิกจ่ายที่กิจการทำขึ้นเท่านั้น
ลูกหนี้การค้า
กิจการมีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นจำนวนสูง โดยอาจเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีตัวตน หรือเป็นยอดเงินให้กู้ยืมที่ไม่ได้นำมาแสดงไว้ในงบการเงิน ซึ่งอาจแสดงให้เห็น ได้ว่า กิจการมีการแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง
เงินให้กู้ยืมระยะสั้น
-กิจการไม่มีเงินให้กู้ยืมกรรมการจริง แต่มีรายการดังกล่าวแสดงในงบการเงิน
-กิจการมีเงินให้กู้ยืม แต่ไม่มีรายการดอกเบี้ยรับ
-กิจการมีการให้กู้ยืมเงินจากปีที่ผ่านมา แต่คำนวณดอกเบี้ยรับ ณ วันสิ้นปี
สินค้าคงเหลือ
-กิจการมีสินค้าคงเหลือสูงหรือต่ำกว่าข้อเท็จจริง (สินค้าขาด/เกิน)
-รายงานสินค้าคงเหลือของกิจการไม่ตรงกับสินค้าที่มีอยู่จริง
-กิจการไม่มีผลิตภัณฑ์พลอยได้ ของเสีย ของมีตำหนิ และเศษซากคงเหลือในรายงานสินค้าและวัตถุดิบ และไม่มีการออกใบกำกับภาษีขาย
ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
-งบการเงินไม่แสดงรายการสินทรัพย์ในการประกอบกิจการ หรือสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดรายได้ของกิจการ
-กิจการแสดงสินทรัพย์ในบัญชีสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง
-กิจการมีการเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี หรือกิจการใช้วิธีการคิดค่าเสื่อมราคาตามนโยบายการบัญชี ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตาม ประมวลรัษฎากร
-กิจการบันทึกสินทรัพย์ที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ หรือลิสซิ่ง ไม่สอดคล้องกับ หลักเกณฑ์ตามประมวลรัษฎากร
เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน
-กิจการมีรายการดังกล่าว แต่ไม่แสดงในงบการเงิน โดยใช้การหักกลบลบกันกับรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
-รายการเจ้าหนี้การค้าสูง ซึ่งอาจเป็นเจ้าหนี้การค้าที่ไม่มีตัวตน อาจแสดงว่ากิจการแสดงรายการไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง
-รายการเจ้าหนี้การค้าต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากไม่บันทึกรายการซื้อที่เกิดขึ้น
เงินกู้ยืมกรรมการและหนี้สินหมุนเวียนอื่น
-กิจการไม่มีเงินกู้ยืมกรรมการจริง ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่ากิจการแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
-กิจการมีรายการค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง หรือไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง
ทุนจดทะเบียน
กิจการแสดงมูลค่าทุนจดทะเบียนไว้ครบตามจำนวน แต่จากข้อเท็จจริงกิจการได้รับชำระค่าหุ้นไม่ครบ และไม่ได้รับรู้เป็นลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระ รวมทั้งไม่ได้คิดดอกเบี้ย
รายได้จากการประกอบกิจการ
-รายได้ที่แสดงในงบการเงินไม่สัมพันธ์กับต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจแสดงได้ว่า
-กิจการบันทึกรับรู้รายได้ไม่สอดคล้อกับสภาพข้อเท็จจริง
-กิจการมีรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (out of vat scope) แต่ไม่นำมาบันทึกเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการ
-กิจการมีรายได้จากการส่งเสริมการขาย แต่ไม่ได้รับรู้เป็นรายได้
-กิจการมีรายได้ค่าโฆษณาจากการแลกเปลี่ยนการให้บริการระหว่างกัน แต่ไม่ได้รับรู้เป็นรายได้ของกิจการ (Barter)
-กิจการมีการขายผลิตภัณฑ์พลอยได้ หรือของเสียจากกระบวนการผลิตแต่ไม่รับรู้เป็นรายได้
-กิจการมีการจำหน่ายสินทรัพย์ แต่ไม่รับรู้กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์
-กิจการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ตัดเป็นหนี้สูญแล้ว แต่ไม่ได้รับรู้เป็นรายได้
-กิจการได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัย แต่ไม่ได้รับรู้เป็นรายได้
-กิจการมีการให้ส่วนลดแก่ลูกค้าสูงเกินกว่าความเป็นจริงหรือธรรมเนียมปกติทางการค้า
ต้นทุนขาย/บริการ
-กิจการบันทึกรายการซื้อสินค้าสูง/ต่ำกว่าข้อเท็จจริง
-กิจการมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแต่มีรายได้ที่ลดลง
-กิจการไม่มีการปันส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นต้นทุน เช่น บันทึกค่าใช้จ่ายของพนักงานทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายในรอบบัญชีนั้น
ค่าใช้จ่ายในการขาย
-กิจการมีรายการค่านายหน้า ค่าส่งเสริมการขาย ค่าใช้จ่ายพนักงานสูงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของกิจการ
-กิจการมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าแรง ค่านายหน้า ค่าขนส่ง ค่าที่ปรึกษา
ค่าใช้จ่ายในการบริหาร
-กิจการบันทึกค่าซ่อมแซมที่มีจำนวนสูงเป็นสินทรัพย์ของกิจการ หรือ กิจการบันทึกค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาเป็นต้นทุนของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่าย
-กิจการบันทึกค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้องตามรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ได้ปรับปรุงเป็นรายการค่าใช้จ่ายค้างจ่ายไว้ เช่น ค่าน้ า ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ หรือไม่ได้ปรับปรุงเป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า เช่น ค่าประกันภัย
-กิจการบันทึกดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการได้มาซึ่งสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในรอบ
ที่มา : www.beeaccountant.com