การตีราคาเงินตรา ทรัพย์สิน และหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ

การตีราคาเงินตรา ทรัพย์สิน และหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ





          แม้ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการตีราคาเงินตรา ทรัพย์สินและหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศไว้เป็นพิเศษแต่การใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการปฏิบัติการทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรมีอยู่ในทุกประเภทภาษี ฉะนั้น เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นภาพรวม จึงขอนำหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการปฏิบัติการทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรทุกประเภทภาษีมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

 

  ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางภาษีอากรอย่างไร 

  วิสัชนา การกระทำธุรกรรมทางการเงินทั้งในภาครัฐ และเอกชนในประเทศไทย มีเงินสกุลบาทไว้ใช้แลกเปลี่ยน และบันทึกรายการทางบัญชีโดยกำหนดไว้เป็นมาตรฐานตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 และสำหรับในทางภาษีอากรโดยเฉพาะภาษีอากรตามประมวลมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนไว้หลายบทบัญญัติ ดังนี้

  1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล แบ่งเป็น

     1.1 หลักเกณฑ์การตีราคาเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี หรือคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลา เพื่อการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี การคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยให้ดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร

     1.2 การคำนวณราคาทุนของสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศตามมาตรา 65 ทวิ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

   การคำนวณราคาทุนของสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้คำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นติดต่ออยู่โดยไม่ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ โดยให้ใช้อัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ เพราะในขณะเดียวกันก็ต้องรับรู้เจ้าหนี้ต่างประเทศด้วย

อัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ดังกล่าว ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ได้รับสินค้า ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการซื้อสินค้าดังนี้

(1) กรณีซื้อสินค้าด้วยราคา FOB หรือราคา C&F ซึ่งผู้ซื้อสินค้าจะได้รับสินค้าหรือครอบครองสินค้า ณ ท่าเรือหรือท่าอากาศยาน หรือจุดที่ส่งมอบสินค้าในต่างประเทศ

(2)กรณีซื้อสินค้าด้วยราคา CIF ซึ่งผู้ซื้อสินค้าจะได้รับสินค้าหรือครอบครองสินค้า ณ ท่าเรือหรือท่าอากาศยานหรือจุดที่ส่งมอบสินค้าในประเทศไทย

      1.3 การคำนวณมูลค่าขายสินค้าหรือให้บริการเป็นเงินตราต่างประเทศ

   กรณีการคำนวณมูลค่าขายสินค้าหรือให้บริการเป็นเงินตราต่างประเทศ มิได้บัญญัติไว้โดยตรงดังเช่น กรณีการคำนวณราคาทุนของสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่สามารถนำบทบัญญัติตามวรรคท้ายของมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากรมาปรับใช้โดยอนุโลม เพราะในการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นเงินตราต่างประเทศต้องคำนวณค่าหรือราคาให้เป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

  1. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

      2.1 สำหรับการส่งออก และการขายสินค้า หรือการให้บริการเป็นเงินตราต่างประเทศให้ดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 79/4(1) แห่งประมวลรัษฎากร "ในกรณีได้รับเงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้า การให้บริการและได้มีการขายเงินตราต่างประเทศที่ได้รับชำระนั้นเป็นเงินตราไทยในความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นให้ถือเงินตราไทยจากการขายนั้นเป็นมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการแล้วแต่กรณี เว้นแต่มิได้มีการขายเงินตราต่างประเทศในเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นให้ถือตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้ายของเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น"

       2.2 สำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งผ่านพิธีการทางศุลกากร ให้ดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 79/4(2) แห่งประมวลรัษฎากร "ในกรณีนำเข้าสินค้า ให้คำนวณราคา ซีไอเอฟของสินค้านำเข้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่กรมศุลกากรใช้คำนวณเพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร"

  1. กรณีทั่วไปนอกจากที่ระบุไว้ในสองกรณีดังกล่าวข้างต้น ให้ดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

 "มาตรา 9 เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นถ้าจำเป็นต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยเพื่อปฏิบัติการตามลักษณะนี้ (ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร แห่งประมวลรัษฎากร) ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กระทรวงการคลัง ประกาศเป็นคราวๆ" 

 

          ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลมีข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการตีราคาเงินตรา ทรัพย์สิน และหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไว้เป็นกรณีพิเศษจึงมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

  ปุจฉา มีข้อกำหนดในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการตีราคาเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศอย่างไร 

  วิสัชนา หลักเกณฑ์การตีราคาเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี หรือคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลา เพื่อการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี การคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยให้ดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอาจจำแนกได้ดังนี้

  1. กรณีเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนด คำนวณค่าหรือราคากรณีเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินนั้นๆ ให้เป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น
  2. กรณีเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยดังนี้

       (1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจาก (2) ให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตราหรือทรัพย์สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้และให้คำนวณค่าหรือราคาหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขาย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

       (2) กรณีธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้

 



ที่มา : www.pattanakit.net
 2557
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์