จุดคุ้มทุน (Break Even Point) คืออะไร และคำนวณอย่างไร?

จุดคุ้มทุน (Break Even Point) คืออะไร และคำนวณอย่างไร?

จุดคุ้มทุน (Break Even Point) คืออะไร และคำนวณอย่างไร?



จุดคุ้มทุน (Break Even Point) คืออะไร?

จุดคุ้มทุน (Break Even Point) คือปริมาณการขายที่กิจการจะต้องทำให้ได้ เพื่อให้กิจการนั้นไม่ขาดทุน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ปริมาณการขายที่ทำให้กิจการมีรายได้เท่ากับค่าใช้จ่าย (ไม่ขาดทุน) นั่นเอง

สูตรการคำนวณจุดคุ้มทุน (Break Even Point)

สูตรในการคำนวณปริมาณขาย ณ จุดคุ้มทุนแสดงได้ดังนี้

รายได้ = ค่าใช้จ่าย

(ปริมาณขาย x ราคาขายต่อหน่วย) = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + ค่าใช้จ่ายผันแปร]
(ปริมาณขาย x ราคาขายต่อหน่วย) = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + (ปริมาณขาย x ต้นทุนขายต่อหน่วย)]
(ปริมาณขาย x ราคาขายต่อหน่วย) – (ปริมาณขาย x ต้นทุนขายต่อหน่วย) = ค่าใช้จ่ายคงที่
ปริมาณขาย x (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนขายต่อหน่วย) = ค่าใช้จ่ายคงที่
ปริมาณขาย (ณ จุดคุ้มทุน) = ค่าใช้จ่ายคงที่ / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนขายต่อหน่วย)

สูตรในการคำนวณ ราคาขายต่อหน่วย ณ จุดคุ้มทุนแสดงได้ดังนี้

รายได้ = ค่าใช้จ่าย

(ปริมาณขาย x ราคาขายต่อหน่วย) = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + ค่าใช้จ่ายผันแปร]
(ปริมาณขาย x ราคาขายต่อหน่วย) = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + (ปริมาณขาย x ต้นทุนขายต่อหน่วย)]
ราคาขายต่อหน่วย = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + (ปริมาณขาย x ต้นทุนขายต่อหน่วย)] / ปริมาณขาย

หมายเหตุ :

ค่าใช้จ่ายคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่ากิจการจะขายสินค้าได้หรือไม่ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ค่าเช่าร้านค้า เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่สัมพันธ์กับยอดขาย กล่าวคือหากกิจการขายมากก็จะมีค่าใช้จ่ายผันแปรมาก หากกิจการขายได้น้อยก็จะมีค่าใช้จ่ายผันแปรน้อยตามไปด้วย เช่น ต้นทุนของสินค้า เป็นต้น

วิธีการคำนวณจุดคุ้มทุน (Break Even Point)

เราลองมาดูวิธีการในการคำนวณปริมาณขาย ณ จุดคุ้มทุนกันได้จากตัวอย่างนี้

ตัวอย่าง : ร้านขายเค้กแห่งหนึ่งมีค่าเช่าที่ 1,000 บาท/เดือน เค้กขายในราคาชิ้นละ 50 บาท ต้นทุนต่อชิ้นอยู่ที่ 30 บาท จงคำนวณหาปริมาณเค้กที่ขายเพื่อให้ร้านเค้กแห่งนี้คุ้มทุน

ปริมาณขาย (ณ จุดคุ้มทุน) = ค่าใช้จ่ายคงที่ / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนขายต่อหน่วย)

ปริมาณขาย (ณ จุดคุ้มทุน) = 1,000 / (50 – 30)

ปริมาณขาย (ณ จุดคุ้มทุน) = 50 ชิ้น

เราลองมาดูวิธีการในการคำนวณราคาขายต่อหน่วย ณ จุดคุ้มทุนกันได้จากตัวอย่างนี้

ตัวอย่าง : ร้านขายเค้กแห่งหนึ่งมีค่าเช่าที่ 1,000 บาท/เดือน คาดว่าจะขายเค้กได้ 60 ชิ้นต่อวัน ต้นทุนต่อชิ้นอยู่ที่ 30 บาท จงคำนวณหาราคาขายเค้กต่อหน่วยเพื่อให้ร้านเค้กแห่งนี้คุ้มทุน

ราคาขายต่อหน่วย = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + (ปริมาณขาย x ต้นทุนขายต่อหน่วย)] / ปริมาณขาย

ราคาขายต่อหน่วย = [1,000 + (60 x 30)] / 60

ราคาขายต่อหน่วย = 46.67 บาท / เค้ก 1 ชิ้น

จากตัวอย่างแรกหากนำมาสรุปเป็นกราฟ จะเห็นได้ว่ายิ่งขายน้อยก็จะยิ่งขาดทุน จนถึงจุด 50 ชิ้นเป็นจุดที่ขายได้คุ้มทุน และหากขายได้เกิน 50 ชิ้น กิจการก็จะเริ่มมีกำไร

กราฟจุดคุ้มทุน

วิธีในการลดจุดคุ้มทุน (Break Even Point)

หากก่อนเริ่มธุรกิจหากเราลองคำนวณจุดคุ้มทุน (Break Even Point) ออกมาแล้วพบว่าเป็นไปได้ยากที่จะสามารถทำปริมาณขายได้ตาม ณ จุดคุ้มทุนที่คำนวณมา เราก็จะต้องมาดูวิธีในการลดจุดคุ้มทุนลง หากเราวิเคราะห์สูตรในการคำนวณจุดคุ้มทุน ดังนี้

ปริมาณขาย (ณ จุดคุ้มทุน) = ค่าใช้จ่ายคงที่ / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนขายต่อหน่วย)

จะเห็นได้ว่ามีตัวแปร 3 ตัวหลักที่ส่งผลต่อปริมาณการขาย ณ จุดคุ้มทุน นั่นคือ ค่าใช้จ่ายคงที่, ราคาขายต่อหน่วยและ ต้นทุนขายต่อหน่วย ดังนั้นหากเราต้องการลดจุดคุ้มทุนลง เราก็จะต้องดำเนินการดังนี้

  1. พยายามหาทางลดค่าใช้จ่ายคงที่ของกิจการให้ลดลง เช่น การเจรจาต่อรองของลดค่าเช่า, ใช้น้ำ ไฟฟ้า ให้คุ้มค่ามากที่สุด, จ่ายเงินเดือนพนักงานไม่สูงจนเกินไป เป็นต้น
  2. พยายามหาทางปรับเพิ่มราคาขายต่อหน่วยของสินค้าของกิจการ เช่น การปรับให้สินค้ามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับของคู่แข่งสามารถเพิ่มราคาขายได้ เป็นต้น
  3. พยายามหาทางปรับลดต้นทุนขายต่อหน่วยของสินค้าของกิจการ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าให้มีต้นทุนที่ต่ำลง เป็นต้น

สรุป

จะเห็นได้ว่าการคำนวณจุดคุ้มทุน หรือ Break Even Point เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ในเรื่องการทำธุรกิจ


ขอบคุณบทความจาก : tanateauditor.com

 452
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์