เปรียบเทียบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

เปรียบเทียบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

เปรียบเทียบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล



ในการทำธุรกิจ เรามีทางเลือกว่าต้องการให้ธุรกิจของเรามีสถานะทางกฎหมายเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลได้ ซึ่งนี่ คือทางเลือกที่เรามีได้อย่างอิสระ ไม่มีทางเลือกแบบไหนถูกหรือผิด

แล้วจะเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับธุรกิจของเราดีล่ะ?

โดยทั่วไปถ้าเราเลือกจะเป็นธุรกิจบุคคลธรรมดา ในทางปฏิบัติก็หมายถึงเราไม่ไปจดทะเบียนนิติบุคคล และเสียภาษีเหมือนบุคคลธรรมดาตามปกติ ข้อดีพื้นฐานคือ การทำธุรกิจในแบบนี้ เราสามารถตัดสินใจทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องไปถามหรือขอความเห็นชอบกับใครก่อน ตัดสินใจได้เลย ซึ่งต่างจากนิติบุคคลที่ “เจ้าของบริษัท” ไม่สามารถมีเพียงคนเดียวได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัท ก็ตาม ดังนั้นการตัดสินใจอย่างว่องไวแบบธุรกิจบุคคลธรรมดาจึงมีโอกาสเกิดได้ยากกว่า

ถ้าเป็นเช่นนี้ทำไมคนถึงไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกัน?

เพราะการเป็นนิติบุคคลมีข้อดีในทางธุรกิจอีกหลายอย่าง เช่น การเป็นนิติบุคคลทำให้บรรดาหุ้นส่วนสามารถจำกัดความเสียหายของเงินลงทุนไว้ได้แค่ส่วนที่ลงทุนไปในบริษัทเท่านั้น ในกรณีที่บริษัทสร้างความเสียหายเป็นหนี้สินจนต้องล้มละลาย คนที่เป็นหุ้นส่วนก็จะเสียเงินไปเพียงที่ลงทุน แต่หากธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาล้มละลาย เจ้าของธุรกิจจะต้องล้มละลายไปด้วย ดังนั้นการเป็นนิติบุคคลจึงเป็นการจำกัดความเสี่ยงในการลงทุนของทางเจ้าของธุรกิจเอง

นอกเหนือไปกว่านั้น ด้วยโครงสร้างของนิติบุคคลยังทำให้ธุรกิจแบบนิติบุคคลมีความน่าเชื่อถือกว่าธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา เช่น หากมี 2 ธุรกิจที่เหมือนกันเป๊ะ แต่ธุรกิจหนึ่งดำเนินในรูปแบบบุคคลธรรมดาในขณะที่อีกธุรกิจมีชื่อ “บริษัท” นำหน้า ธุรกิจแบบหลังก็จะชวนให้คู่ค้า มาใช้บริการมากกว่า เพราะดูน่าเชื่อถือและมั่นใจได้ว่าสามารถออกใบเสร็จถูกต้องตามระเบียบภาษีได้

ข้อดีของนิติบุคคลอีกประการก็คือ เสียภาษีแค่จากผลกำไรจริงๆ เท่านั้น โดยสามารถนำรายจ่ายทางธุรกิจเกือบทั้งหมดมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งต่างจากธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา ที่โดยทั่วไปจะใช้ระบบ “เหมาจ่าย” กับทางสรรพากร ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริงดังที่มีหลักฐานยืนยันทางบัญชีอย่างนิติบุคคลได้

แต่ทั้งนี้นิติบุคคลก็ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน จัดเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อมเพื่อใช้ประกอบการยื่นเสียภาษีกับสรรพากร ซึ่งอานิสงส์จากการต้องทำบัญชีและมีเอกสารหลักฐานที่พร้อมนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบของนิติบุคคล เพราะสามารถนำไปใช้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อต่อธุรกิจหรือเพิ่มสภาพคล่องกับธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ได้ ซึ่งการที่มีเอกสารแสดงรายได้ที่ชัดเจนครบถ้วนนั้น ก็อาจเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่อบุคคลธรรมดา

อ่านมาถึงตรงนี้เราอาจคิดว่าถ้านิติบุคคลมันดีไปหมด?

ทำไมคนถึงไม่ไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกัน? คำตอบคือ ความเป็นระบบของนิติบุคคลก็มีราคาที่ต้องจ่าย อย่างการทำบัญชี ถ้าเจ้าของกิจการทำบัญชีไม่เป็น ก็ต้องว่าจ้างผู้ทำบัญชีมาทำบัญชีให้ และยังต้องว่าจ้างผู้สอบบัญชีที่มีใบอนุญาตมาตรวจสอบบัญชีอีกทีหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่มากมายอะไรสำหรับองค์กรใหญ่ๆ แต่ก็ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายน้อยๆ สำหรับธุรกิจขนาดเล็กเช่นกัน ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากจึงเห็นว่าไม่คุ้มค่าพอที่จะเปลี่ยนธุรกิจตัวเองเป็นนิติบุคคล

ในแง่หนึ่งก็ถูก เพราะสำหรับธุรกิจบุคคลธรรมดาขนาดเล็กที่มีรายรับสุทธิ (หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน) ต่ำกว่า 1 ล้านบาท จะเสียอัตราภาษีที่ต่ำกว่านิติบุคคลเพราะนิติบุคคลจะต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิ 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรก ในขณะที่ภาษีบุคคลธรรมดาเป็นลักษณะก้าวหน้าแบบขั้นบันได จึงเสียภาษี 20% เฉพาะส่วนที่เกิน 750,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่งจึงมีแรงจูงใจด้านภาษี ที่จะไม่เปลี่ยนเป็นนิติบุคคล เพราะอาจทำให้ธุรกิจมีทั้งต้นทุนและอัตราภาษีมากกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ดีสำหรับธุรกิจที่ใหญ่กว่านั้น แทบไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะไม่เปลี่ยนเป็นนิติบุคคล เพราะว่าการเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดานั้นจะเพิ่มอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดตามรายรับสุทธิไปเรื่อยๆ สูงสุดถึง 35% ในขณะที่นิติบุคคลมีเพียงอัตราภาษีเดียวสำหรับทุกผลกำไร คือ 20%

หรือยิ่งไปกว่านั้นหากประกอบธุรกิจแล้วขาดทุน นิติบุคคลก็ไม่ต้องเสียภาษีด้วยถ้าสามารถพิสูจน์ในทางบัญชีได้ว่าขาดทุนจริงๆ และยังสามารถเอาเงินที่ขาดทุนไปหักเป็นรายจ่ายภาษีในปีภาษีต่อๆ ไปได้ด้วย (สูงสุดไม่เกิน 5 ปี) ซึ่งธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาไม่สามารถทำได้ แม้ว่าจะยื่นภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ยังมีการคำนวณภาษีอีกวิธีหนึ่ง คือ เมื่อมีเงินได้มากกว่า 120,000 บาทต่อปี(ไม่หักค่าใช้จ่ายและลดหย่อน) ต้องเสียภาษีร้อยละ 0.5 หากไม่ถึง 5,000 บาทจึงจะได้รับการยกเว้น

กล่าวคือธุรกิจยิ่งมีขนาดใหญ่ การเป็นนิติบุคคลก็ยิ่งได้เปรียบทางภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดา ซึ่งนี่ก็ยังไม่รวมสิทธิประโยชน์พิเศษตามนโยบายรัฐแต่ละช่วงอีกสารพัด เช่น การลดหรือเว้นภาษีแก่ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมบางประเภท โดยธุรกิจที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้มีแต่นิติบุคคลเท่านั้น ธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาไม่ได้

อ่านมาทั้งหมด เราก็คงจะเห็นว่าธุรกิจหนึ่งๆ ควรจะดำเนินในรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ขึ้นกับขนาดของธุรกิจเป็นสำคัญ คงจะไม่มีธุรกิจขนาดเล็กที่ยังมีรายได้ไม่มากอยากจะเป็นนิติบุคคล เพราะนั่นหมายถึงการเพิ่มภาระมามากมายโดยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีใดๆ เพิ่ม และในขณะเดียวกันธุรกิจที่รายได้หลักล้านและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็กำลังพยายามเปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคล เพื่อให้บริษัทได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่าที่เป็นอยู่อีกมาก

ดังนั้นสำหรับคำถามว่าธุรกิจจะเป็นธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลดี? ก็คงจะขึ้นอยู่กับธุรกิจของคุณ

Cr. https://sme.krungthai.com/

 65
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์