เงื่อนไข "Easy E-Receipt 2.0" ชอปสินค้าอะไรลดหย่อนภาษี 2568

เงื่อนไข "Easy E-Receipt 2.0" ชอปสินค้าอะไรลดหย่อนภาษี 2568

เงื่อนไข Easy E-Receipt 2.0 ชอปสินค้าอะไรลดหย่อนภาษี 2568



          มาตรการ "Easy E-Receipt 2.0" เป็นการขยายผลจากมาตรการเดิม "Easy e-Receipt" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในประเทศในปี 2568 โดยให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล) หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2568 ถึงวันที่ 28 ก.พ.2568 ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น
                    • ครม.อนุมัติ Easy e-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568 สูงสุด 50,000 บาท

                    • ไขทุกข้อสงสัย! ใคร-เอกสารอะไร ที่ต้องใช้ "ยื่นภาษี 2567"

Easy E-Receipt 2.0 คืออะไร
          โครงการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล สามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น โดยสามารถนำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2568


          ทั้งนี้สำหรับปี 2568 ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์เล็กน้อย แบ่งเป็นส่วนแรก 30,000 บาท เป็นใช้จ่ายในร้านค้าทั่วไป ส่วนที่สอง 20,000 บาท ใช้กับวิสาหกิจชุมชน ร้านโอทอป (OTOP)

Easy E-Receipt 2.0 เริ่มเมื่อไหร่
          ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2568 ถึงวันที่ 28 ก.พ.2568 โดยสามารถนำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2568



หลักเกณฑ์และเงื่อนไข Easy E-Receipt 2.0
          1. ให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2568 ถึงวันที่ 28 ก.พ.2568 ได้สูงสุด 50,000 บาท ดังนี้

                    1.1. หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน 
                    1.2. หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ โดยต้องมี e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt เป็นหลักฐาน
                              (1) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียน กับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
                              (2) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
                              (3) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียน ต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
          ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1.1 จะเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1.2 ก็ได้

เงื่อนไขซื้อสินค้าผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
          กรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้

          1. ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
          2. ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
          3. ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียน กับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
          4. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
          5. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

สินค้าและบริการที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้
          1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์

          2. ค่าซื้อยาสูบ
          3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
          4. ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ
          5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
          6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ
          7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
          8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ที่ถูกต้อง
          e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

เงื่อนไขก่อนใช้สิทธิ
          1. ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมี E-TAX INVOICE แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน

          2. ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้ และมี E-RECEIPT เป็นหลักฐาน
                    (1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร รวมถึงที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (E-BOOK)
                    (2) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับ กรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
                    (3) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อ กรมส่งเสริมการเกษตร
                    (4) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม


Easy E-Receipt 2.0 มีผลดีอย่างไร
          มาตรการ "Easy E-Receipt 2.0" จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 70,000 ล้านบาท

ขอบคุณสำหรับบทความ : สำนักข่าว Thai PBS

 212
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์